วันพุธที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2552

Contemporary Thai Design



ประวัติ องค์ประกอบและประเภทของงานใบตอง
ประวัติความเป็นมาของงานใบตอง
ตั้งแต่สมัยโบราณเป็นต้นมา มนุษย์เราได้ใช้ใบตองมาห่ออาหาร ห่อขนมต่างๆและใช้ในเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวัน เช่น สมัยก่อนใช้เตาถ่านรีดผ้า ก็ต้องรีดกับใบตองก่อน จะทำให้เตารีดลื่นดีขึ้น
ในด้านความสวยงาม ได้มีผู้คิดประดิษฐ์ใบตองให้เป็นกระทง บายศรี ตลอดจนภาชนะใส่สิ่งของ ทำให้เกิดการวิวัฒนาการกันมาเรื่อยๆ
ไม่มีหลักฐานยืนยันได้ว่า “งานใบตอง” เริ่มขึ้นเมื่อใดหรือยุคใดใครเป็นผู้สอน มีเพียงหนังสือที่จะค้นคว้าได้ก็คือ พระราชนิพนธ์เรื่อง พระราชพิธี 12 เดือน ซึ่งว่าด้วยการลอยพระประทีป และบุคคลที่อ้างถึงและกล่าวขวัญกันจนติดปากก็คือ นางนพมาศ หรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ซึ่งได้คิดตกแต่งโคมลอยประดับด้วยดอกไม้หลากสีสวยงาม และยังนำผลไม้มาแกะสลักเป็นพวกนกต่างๆ เกาะตามกลีบดอกไม้ แต่งด้วยธูปเทียนสวยงาม จึงจดจำมาจนปัจจุบันว่า ในสมัยโบราณบรรพบุรุษของเราได้มีความสามารถล้ำเลิศยิ่งนักในการประดิษฐ์ดอกไม้ ใบไม้ ตลอดจนผลไม้และวัสดุอื่นๆ
งานฝีมือต่างๆ มักจะมีต้นกำเนิดจากภายในพระบรมมหาราชวัง โดยมีการนำลูกหลานเข้าถวายตัว เพื่อขอรับการฝึกในศิลปวัฒนธรรมต่างๆ เมื่อออกมาแล้วก็ได้นำมาเผยแพร่หรือประกวดประชันกันต่อๆไป จนเป็นที่แพร่หลายในหมู่ประชากรทั่วไป
ปัจจุบันนี้ งานใบตองได้ขยายวงกว้างขึ้นเป็นที่สนใจของประชาชนทั่วไปจนถึงชาวต่างชาติ ได้มีการจัดนิทรรศการกันตามสถานศึกษา ศูนย์การค้า ตลอดจนหน่วยงานราชการต่างๆ หรือกระทั่งรายการโชว์ทางโทรทัศน์ ดังนั้นผู้ที่คิดประดิษฐ์หรือสนใจในวิชานี้จึงพยายามประยุกต์และพัฒนาให้มีรูปแบบหลากหลาย เพื่อเผยแพร่เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของประเทศไทย




องค์ประกอบของงานใบตอง
ในการประดิษฐ์งานใบตองในรูปแบบต่างๆ ที่พบเห็นนั้น ในชิ้นงานมักประกอบไปด้วยหลายๆส่วน ซึ่งสามารถแยกได้เป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ ดังนี้
1. ส่วนประกอบหลัก ได้แก่ ใบตองที่พับเป็นกลีบรูปแบบต่างๆ เพื่อนำมาใช้ประกอบเป็นรูปทรงต่างๆ เช่น ใบตองที่พับเป็นรูปกลีบผกาซ้อน รูปกลีบเล็บครุฑ หรือรูปหักคอกม้า เป็นต้น
2. ส่วนประกอบตกแต่ง ได้แก่ ใบตองที่พับเป็นรูปต่างๆ เพื่อนำมาใช้ตกแต่งผลงานให้เรียบร้อย ดูประณีตและสวยงามยิ่งขึ้น เช่น ใบตองที่พับเป็นลายนมสาว นำมาถักตะขาบ หรือพับลายดอกลำดวน เป็นต้น

ประเภทของงานใบตอง
งานใบตองสามารถแบ่งเป็นประเภทตามลักษณะการนำไปใช้งานได้ดังนี้
1. ประเภทใช้ห่อหรือบรรจุอาหาร ซึ่งงานใบตองประเภทนี้พบเห็นได้โดยทั่วไปในชีวิตประจำวัน ในยุคหนึ่งใบตองไม่ได้รับความนิยม เนื่องจากความทันสมัยและความสะดวกของพลาสติก แต่ปัจจุบันได้มีการรณรงค์ให้ลดใช้พลาสติก จึงมีการนำใบตองกลับมาใช้ในชีวิตประจำวันอีกครั้ง งานใบตองประเภทใช้ห่อหรือบรรจุอาหารได้แก่ การห่อแบบต่างๆ กระทง ถาดและกระเช้า
- การห่อขนมและอาหาร เช่น การห่อสวม ห่อทรงเตี้ย และห่อทรงสูง ซึ่งสามารถนำไปใช้บรรจุอาหารแห้ง เช่น การห่อข้าวเหนียวหน้าต่างๆ ขนมใส่ไส้ ห่อหมก เป็นต้น
- กระทงใส่ขนมและอาหาร เช่น กระทงมุมเดียว กระทงสองมุม กระทงสี่มุม เราสามารถนำมาห่ออาหารประเภทของแห้ง หรือของแห้งที่มีน้ำขลุกขลิก ได้แก่ ขนมกล้วย ขนมตาล ขนมต้มแดงต้มขาว เป็นต้น
- ถาดใบตอง ซึ่งสามารถประดิษฐ์เป็นถาดได้หลายรูปแบบ เช่น ถาดรูปกลม ถาดรูปรี ถาดรูปหัวใจ เป็นต้น โดยเย็บเป็นแบบต่างๆ เช่น ลายเล็บครุฑ ลายกลีบผกา หรือลายผีเสื้อ เป็นต้น นำมาบรรจุอาหารหรือผลไม้ในงานเลี้ยงต่างๆ
- กระเช้าใบตอง ส่วนมากมักพบในโอกาสพิเศษ ใช้สำหรับบรรจุขนมไทย เพื่อนำไปกราบผู้ใหญ่ที่เคารพ เช่น กระเช้าแบบมีหูใส่ขนมไทยชนิดต่างๆ ตกแต่งด้วยดอกไม้สด สวยงาม เป็นต้น
2. ประเภทกระทงดอกไม้
กระทงดอกไม้มีหลายรูปแบบ ซึ่งในแต่ละแบบผู้ประดิษฐ์พยายามพัฒนาและสร้างสรรค์ได้อย่างสวยงาม กระทงทุกๆแบบสามารถนำไปใช้ได้หลายโอกาส เช่น
- ใช้เป็นเครื่องสักการบูชาพระรัตนตรัย
- ใช้เป็นเครื่องสักการะพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์
- นำไปกราบลาอุปสมบท
- กราบพ่อแม่ ครูอาจารย์
- ขอขมาลาโทษ
- ชุดขันหมาก เป็นต้น
3. ประเภทกระทงลอย
กระทงลอยคือ ภาชนะสำหรับใส่ดอกไม้ ธูป เทียน สิ่งของที่ลอยน้ำได้ ส่วนใหญ่ประดิษฐ์จากใบตองซึ่งใช้ในเทศกาลวันลอยกระทง คือ ในวันเพ็ญเดือน 12 ตามความเชื่อว่า การลอยกระทงเพื่อเป็นการขอขมาแก่แม่คงคา เพราะได้อาศัยน้ำเพื่อดื่มกินและใช้ในชีวิตประจำวัน
4. ประเภทบายศรี
บายศรี คือ ภาชนะที่ตกแต่งสวยงามเป็นพิเศษ เพื่อเป็นสำรับใส่อาหารคาว-หวานในพิธีสังเวยบูชาและพิธีทำขวัญต่างๆ ทั้งพระราชพิธีและพิธีของราษฎร์
บายศรีหลวง หรือของพระมหากษัตริย์ แบ่งเป็น 3 ชนิด คือ บายศรีสำรับเล็ก บายศรีสำรับใหญ่ บายศรีตองรองทองขาว
บายศรีที่ใช้ในพิธีของราษฎร์ มีตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ และแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ
1. บายศรีใหญ่ ใช้เป็นเครื่องบูชาเทพยดาตามลัทธิพราหมณ์ ใช้ในพิธีทำขวัญและไหว้ครู แต่ไม่ใช้บูชาพระ แบ่งเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้
1) บายศรีใหญ่ เป็นบายศรีที่มีขนาดใหญ่กว่าบายศรีปากชาม โดยจัดทำใส่ภาชนะที่ใหญ่ เช่น พาน โตกหรือตะลุ่ม ซึ่งอาจมีชั้นเดียวหรือหลายชั้นก็ได้ เช่น บายศรีภาคอีสาน บายศรีภาคเหนือ เป็นต้น
2) บายศรีต้น บายศรีตั้ง หรือบายศรีชั้น มีลักษณะโครงทำด้วยไม้ มีฐานล่างใหญ่ รูปกลมแบน ตรงกลางฐานใช้ไม้กลมเป็นแกนลำต้นตลอดยอด ที่แกนติดแป้นเป็นเถา ห่างเป็นระยะมี 5 ชั้น 7 ชั้น 9 ชั้น บายศรีต้นประกอบด้วยตัวบายศรีที่ทำด้วยใบตอง ตรึงกับไม้แป้นตามลำดับ ระหว่างแป้นตกแต่งด้วยดอกไม้ หรืองานแกะสลัก พุ่มดอกไม้เป็นยอดหรือบายศรี (หรือใช้บายศรีปากชาม) ไม้พันผ้าขาว 3 อันผูกขนาบให้แน่น
2. บายศรีปากชาม มีลักษณะเล็กใส่ในชามหรือขัน ประกอบด้วย ตัวบายศรีทำด้วยใบตองเท่าๆกัน 3 ตัว กรวยใบตองบรรจุข้าวสุกปากหม้อเต็ม 1 กรวย ใบตองทำเป็นแมงดา 3 ตัว กล้วยและแตงกวา แบ่งตามยาวของลูกอย่างละ 3 ชิ้น ไม้ไผ่เล็กยาวเสียบตลอดกรวย เหลือยอดเสียบไข่ต้ม ตกแต่งด้วยดอกไม้

วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในงานใบตอง
งานประดิษฐ์ภาชนะจากใบตอง เป็นงานประณีตใช้ฝีมือและทักษะความชำนาญของผู้ทำ สิ่งหนึ่งที่มีส่วนช่วยให้งานออกมาดี คือ ใบตอง ซึ่งเป็นวัสดุหลัก ใบตองมีหลายชนิดแต่ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการประดิษฐ์ที่สุด คือ ใบตองจากกล้วยตานี สำหรับอุปกรณ์ในการเย็บใบตองแต่ละครั้งต้องเตรียมไว้ให้พร้อมจะทำให้การทำงานเร็วและราบรื่น ฉะนั้นในการเลือกวัสดุอุปกรณ์ที่เหมาะสมย่อมช่วยให้การทำงานสะดวกและมีประสิทธิภาพ



ประเภทของวัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ในงานใบตอง
1. ใบตองตานี มีผิวเป็นมัน สีเขียวเข้ม ไม่แห้งกราก เหนียวนุ่ม ไม่เปราะ ไม่ฉีกขาดง่าย มีความหนา-บางพอเหมาะ สีของใบตองจะไม่ตกติดอาหาร ถึงแม้จะถูกความร้อน
2. กรรไกร ขนาดและรูปร่างเหมาะมือ น้ำหนักเบาและคมตลอดปลาย เวลาจับ นิ้วทั้งหมดเข้าช่องได้พอดี ตัดใบตองใช้กรรไกรขนาดใหญ่ ตัดด้ายใช้กรรไกรขนาดเล็ก
3. เข็มมือ ถ้างานละเอียดชิ้นเล็กมากใช้เบอร์ 9 ถ้างานปกติใช้เบอร์ 8 เลือกที่แข็งแรง รูกว้างและตัวยาว
4. เข็มหมุด ชนิดหัวมุกใช้ในบางครั้งที่ต้องการกลัด หรือตรึงให้อยู่กับที่ชั่วคราว ส่วนชนิดหัวเล็กใช้บ่อย ต้องเลือกตัวยาวและปลายแหลม
5. ไม้กลัด ขนาดเล็กแหลมแข็งแรง ใช้ไม้ติดผิวหรือใกล้ผิว
6. ด้าย สีเขียวเข้มหรือสีดำเบอร์ 60 ใช้สองเส้นดีกว่าเส้นเดียว เพราะใช้เส้นเดียวจะมีความคมตัดใบตองให้ขาดง่าย
7. ผ้าขาวบาง สำหรับห่อใบตองที่ฉีกแล้วหรือห่อผลงานที่แช่น้ำพอแล้ว ใช้ผ้าสาลูทบ 2 ชั้น เย็บริมคล้ายผ้าอ้อม
8. ผ้าเช็ดใบตอง ใช้ผ้าฝ้ายดีกว่าผ้าผสมใยสังเคราะห์ เพราะนุ่มและดูดซึมได้ดีกว่า
9. ยางลบอย่างแข็ง ยางลบเนื้อแข็งๆ ใช้สำหรับกดเข็มหมุดแทนนิ้วมือ นุ่มและไม่เลื่อนหลุดเวลากด
10. ไม้บรรทัด เลือกที่เห็นเส้นและบรรทัดชัดเจน
11. อุปกรณ์อื่นๆที่อาจจำเป็น เช่น คีม ปากคีม ลวด กรรไกรตัวลวด มีดคัทเตอร์ วงเวียน เขียง ถาด กะละมัง ที่ฉีดน้ำและภาชนะต่างๆ ควรเลือกให้พอเหมาะทั้งขนาดและคุณสมบัติที่ต้องการ


หลักการเตรียมใบตอง
ชนิดใบตอง ควรเลือกใช้ใบตองตานี เพราะมีความเหนียมนุ่ม ไม่เปราะ ไม่ฉีกขาดง่าย มีความหนา-บางพอเหมาะ ใบตองชนิดอื่นๆ หนาเกินไป หรือเปราะเกินไป การห่อของเล็กๆน้อยๆ อาจใช้ใบตองกล้วยน้ำว้าได้ แต่ถ้าประดิษฐ์สิ่งของสวยงามประณีต เช่น กระทงดอกไม้ แจกัน เป็นต้น ต้องใช้เฉพาะใบตองตานีเท่านั้น
อายุของใบตอง ไม่ควรใช้ใบตองที่ยังอ่อนอยู่ เพราะไม่แข็งแรง เหี่ยวง่าย ฉีกขาดและช้ำมือง่าย ไม่คงรูปทรงที่ต้องการ ใบตองที่แก่เกินไปก็ไม่ควรใช้ เพราะอายุการใช้งานสั้น เหลืองเร็ว ดังนั้นจึงควรเลือกใบตองที่มีอายุปานกลาง คือเริ่มมีสีเขียวแก่ ใบโตเต็มที่
เวลาในการตัดใบตองจากต้น ถ้าต้องการตัดใบตองจากต้นแล้วใช้งานได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาผึ่งให้นุ่ม ควรเลือกตัดในตอนเช้า เวลาสาย ให้น้ำค้างที่เกาะอยู่บนใบตองเริ่มแห้ง ในตอนเย็นแดดอ่อนๆ ใบตองที่สลบแดดในตอนที่แดดจัดนั้นเริ่มฟื้นตัวและแข็งแรงขึ้น แต่อย่ารอให้เย็นใกล้ค่ำ เพราะนอกจากจะมองเห็นสีไม่ถนัดแล้ว อาจเกิดอันตรายได้ การตัดใบตองเพื่อรอจำหน่ายหรือรอการใช้งานนานๆ จำเป็นต้องตัดเมื่อรุ่งเช้าหรือเช้าตรู่ เพื่อจะได้ใบตองสดกรอบ ม้วนพับไว้ได้นานๆ ไม่เหี่ยวง่าย
วิธีตัดใบตองจากต้น ควรตัดให้เหลือหูใบตอง (ส่วนใบที่โคนก้านทางใบตอง) ติดอยู่กับต้นเล็กน้อย เพื่อให้ช่วยทำหน้าที่สังเคราะห์แสงเลี้ยงส่วนก้านและกาบไม่ให้เน่าและเหี่ยวแห้ง รุงรัง ต้นผอม ถ้าตัดใบตองถูกวิธี ต้นกล้วยจะดูเรียบร้อยสวยงาม ต้นอวบอ้วนสมบูรณ์ดี
วิธีเช็ดใบตอง ควรเฉือนใบตองออกจากก้าน และฉีกเป็นแผ่นกว้างพอจับเช็ดถนัดมือ ใช้ผ้าฝ้ายเนื้อนุ่มแห้งสะอาด เช็ดจากโคนถูไปหาปลายริ้วใบตอง ถ้ามีรอยเปื้อนเล็กน้อยเฉพาะแห่ง ใช้ผ้าหมาดๆ เช็ดออก ถ้าเป็นรอยติดแน่นให้ฉีกทิ้ง แต่ถ้ามีคราบฝุ่นเกาะหนาเตอะทั่วทั้งใบให้ล้างน้ำให้สะอาด ผึ่งให้น้ำแห้งแล้วเช็ดอีกครั้งถ้าจำเป็น ส่วนการเย็บใบตองเป็นภาชนะใส่ขนม อาหารรับประทานนั้น เมื่อเย็บเสร็จแล้วควรล้างน้ำให้สะอาดก่อนใช้
การตัด ถ้าต้องการใช้ใบตองรูปกลมหลายๆแผ่นในการเย็บกระทงจีบมุม สำหรับจะใส่ขนมหรืออาหาร ควรฉีกใบตองกว้างเท่าที่ต้องการ หาถ้วยกลมมาทำแบบขีดรอยแล้วใช้กรรไกรตัดหรือใช้มีดคมๆ กรีดตามแบบภาชนะบนเขียง
การฉีก ควรใช้ปลายเข็มหมุดจิกแล้วฉีก ถ้ามีเล็บมือจะใช้เล็บหัวแม่มือก็ได้ ควรค่อนไปทางปลายใบเลยกลางใบไปประมาณ 1-1.5 นิ้ว ชิ้นที่ใช้เป็นแบบหันหน้านวลขึ้น และใช้ชิ้นเดียวตลอดเพื่อให้ขนาดไม่คลาดเคลื่อน

การเก็บรักษาใบตอง
ถ้าต้องการให้ใบตองสดทนนาน เมื่อประดิษฐ์เสร็จแล้วต้องแช่น้ำอย่างน้อย 3 ชั่วโมง หรือ 1 คืน แล้วนำมาวางในภาชนะแล้วคลุมด้วยผ้าชุบน้ำหมาดๆ จะอยู่ได้ 3-5 วัน แต่ถ้างานชิ้นไม่ใหญ่มาก นำใส่ถุงพลาสติกรัดปากถุงให้แน่น เก็บในตู้เย็นก็สามารถเก็บได้นานประมาณ 1 เดือน
ส่วนอุปกรณ์ที่ควรดูแลเป็นพิเศษคือ กรรไกรและเข็มมือ หลังจากใช้แล้วมียางเหนียวของใบตองเกาะอยู่ ควรล้างด้วยผงซักฟอก เช็ดให้แห้งก่อนเก็บ ถ้าเก็บไว้นานๆ จึงหยิบใช้ ควรทาด้วยน้ำมันจักร เพื่อป้องกันสนิม


อ้างอิง
จอมขวัญ สุวรรณรักษ์. 2547. การแกะสลักผัก ผลไม้และงานใบตอง. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.

DESIGNER HERO




GREEM LABLE






HOME